สาระน่ารู้

คีโคน (Key Cone) คือ บ่อปลูกผักรูปทรงเก๋ไก๋รูปแบบใหม่สไตล์คนอีอีพีทำ ทำง่ายมากๆ แค่หาวัสดุเหลือใช้ในบ้าน เช่น เศษไม้ ขวดแก้ว อิฐก้อนเก่าๆ เป็นต้น มาก่อเรียงเป็นชั้นๆ สูงขึ้นเป็นบ่อรูปทรงกลมเหมือนพิซซ่าที่ถูกตัดออกไปหนึ่งชิ้น แล้วทำแกนกลางบ่อด้วยตระแกรงหรือถังพลาสติกเจาะรูรอบทิศ โดยแกนกลางนี้เอาไว้ใส่เศษอาหารและพืชผักเพื่อเป็นปุ๋ย ยกเว้นเนื้อสัตว์และน้ำแกง ส่วนตัวบ่อเอาไว้ใส่ดินสำหรับปลูกพืชผัก

บ่อคีโคนควรสร้างให้สูงจากพื้นดินราว 40 – 80 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางบ่อประมาณ 180 เซนติเมตร ที่ก้นบ่อรองด้วยเศษอิฐ เศษหินลงไปก่อนแล้วทับด้วยกิ่งไม้ ส่วนแกนกลางบ่อควรสร้างให้สูงเลยหน้าดินส่วนที่พูนสูงสุด และควรทำฝาปิดปากช่องแกนกลางสำหรับใส่เศษอาหารนี้เสียด้วย เพื่อกันแมลงและสัตว์เข้าไปคุ้ยเขี่ยเศษอาหาร

เคล็ดลับสำหรับการปลูกพืชผักในบ่อคีโคน แนะนำให้เพาะเมล็ดผักนอกคีโคนให้ได้เป็นต้นอ่อนเสียก่อน จึงค่อยย้ายต้นอ่อนในคีโคนมาลงปลูก ส่วนดินสำหรับปลูกที่ใส่ลงในบ่อควรปรุงให้มีสภาพร่วนซุยเหมาะกับการปลูกผัก และใส่ดินในลักษณะพูนสูงตรงกลางบ่อ แล้วลาดเทเอียงลงสู่ข้างบ่อ เพื่อให้น้ำสามารถไหลลงได้รอบทิศทาง แล้วจึงรดน้ำบนดินที่เตรียมไว้ให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 สัปดาห์เสียก่อน ค่อยย้ายต้นอ่อนของผักลงปลูกในดินที่เตรียมไว้ ส่วนการให้น้ำพืชผักในบ่อคีโคนควรให้น้ำแบบเป็นฝอยละออง เพื่อคงสภาพดิน

สำหรับพืชผักที่จะลงในบ่อปลูกผักคีโคน ควรปลูกหลายชนิดปนๆกันไปเลย อะไรที่บ้านเราชอบกินก็ปลูกอันนั้นแหละ บ่อปลูกผักแบบคีโคน สร้างได้ง่ายโดยใช้วัสดุเหลือใช้ ใช้เงินน้อย ใช้น้ำน้อย สามารถใช้ขยะสดจากเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ย จะช่วยให้ครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหารลงไปได้พอสมควร แถมผักที่เป็นผลผลิตก็เป็นผักปลอดสาร เนื่องจากเราผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้ในแปลงผักเอง ปลูกผักแบบนี้ประหยัดทั้งค่าน้ำ ค่าปุ๋ย เพราะทุกอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็นการใช้พื้นที่ได้เกิดประโยชน์สูงสุด แถมยังช่วยลดขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนได้อีกด้วย

สาระน่ารู้จาก EEP : การคัดแยกขยะตามถังขยะ 4 สี

ถังขยะ 4 สี แต่ละสีนั้นรองรับขยะอะไรบ้าง?
สีเขียว สำหรับทิ้ง เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ใบไม้
สีน้ำเงิน สำหรับทิ้ง ถุงพลาสติกเปื้อน ซองขนม ทิชชู่ โฟม กล่องอาหาร หลอด สีเหลือง สำหรับทิ้ง กระดาษ ลังกระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง
สีแดง สำหรับทิ้ง ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ ภาชนะเปื้อนสารเคมี
การทิ้งขยะให้ถูกถังนั้น เราสามารถนำขยะแต่ละประเภทที่ถูกคัดแยกมาแล้วมากำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สถานที่นั้นๆความสะอาดตา น่ามอง ไม่ก่อให้เกิดแหล่งสะสมของเชื้อโรค
อีกทั้งยังลดปริมาณขยะสะสมที่ยังไม่สามารถถูกกำจัดให้หมดไปได้ หากเราร่วมแรงร่วมใจเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ ก็จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น รวมถึงยังสร้างวินัยที่ดีในการคัดแยกขยะด้วยนะ

สาระน่ารู้จาก EEP : แปลงปลูกผัก Keycone

ปลูกผัก Keycone ใครๆก็ปลูกผักกินได้

สาระน่ารู้จาก EEP

หลายคนคงสงสัยในหัวข้อที่ EEP จะนำเสนอในวันนี้ ไม่ต้องตกใจนะ EEP จะมาแชร์วิธีการปลูกผักจาก “เศษผัก” จริงๆ เศษผักที่เหลือจากการประกอบอาหาร เราจะมาปลูกผักแบบรักษ์โลก แบบคน Green Green กับ 5 ผักยอดฮิตต้องมีติดครัว และที่สำคัญปลูกง่าย ได้ผักที่ปลอดภัย สด สะอาด ไปดูกันเลย

1. ผักกาดขาว ผักที่ต้องมีติดตู้เย็น ใส่ในแกงจืดเต้าหู้หมูสับก็อร่อย หรือใส่ในชาบูหม้อร้อนๆ เตรียมน้ำจิ้มรอได้เลย
วิธีปลูก
           – นำส่วนโคนไปแช่น้ำประมาณ 1 อาทิตย์ ไว้ในที่ร่ม เปลี่ยนน้ำทุกวัน
           – นำไปลงดินเมื่อรากและใบอ่อนเริ่มงอก
           – ส่วนโคนถึงรากนั้น มีความยาวประมาณ 3 นิ้ว
2. ตะไคร้ แซ่บถึงใจไปกับยำตะไคร้ หรือซดน้ำร้อนๆในต้มข่าไก่ นำไปต้มน้ำสมุนไพร เย็นชื่นใจไปอีกแบบ
วิธีปลูก
           – นำไปแช่น้ำประมาณ 1 สัปดาห์จนกว่ารากจะเริ่มงอก
           – ย้ายไปปลูกลงดินเมื่อแตกกอใหม่ ก็สามารถนำไปทำอาหารได้
           – ส่วนโคนถึงรากนั้น มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว
3. ต้นหอม ผักที่ต้องมีติดตู้เย็นทุกบ้าน อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ดีต่อร่างกาย ดีต่อใจ
วิธีปลูก
           -นำส่วนรากไปปักลงดินได้เลย
           -ส่วนโคนถึงรากนั้น มีความยาวประมาณ 3 นิ้ว
             หากปลูกในน้ำ นำส่วนรากไปแช่ในแก้วน้ำ หมั่นเปลี่ยนน้ำและไว้ในแสงแดดที่ส่องถึง
4. ผักบุ้ง บำรุงสายตา ส่วนก้านมักจะไม่ถูกนำมาปรุงอาหาร แต่นำมาปลูกลงดินได้นะ
วิธีปลูก
           – นำส่วนก้านที่ติดรากไปปลูกลงดินได้เลย และหมั่นรดน้ำเป็นประจำ
5. สะระแหน่ สมุนไพรพื้นบ้าน สรรพคุณสุดมหัศจรรย์
วิธีปลูก
           – นำก้านสะระแหน่ ความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ปลูกลงดินในที่ร่ม หมั่นรดน้ำเป็นประจำ
หลายคนคงได้ไอเดียเพื่อนำไปปลูกในแปลงปลูกผัก Keycone กันแล้ว หากใครยังไม่มีแปลงปลูกผัก Keycone ก็สามารถนำไปปลูกลงพื้นดินในบริเวณสวนของบ้านได้เหมือนกัน ซึ่งไอเดียการปลูกเศษผักนี้ ช่วยประหยัดเงินและช่วยลดการเกิดขยะเศษผักในครัวเรือน ใครจะรู้ว่าเศษผักเหล่านี้มีประโยชน์อย่างน่าอัศจรรย์
แหล่งที่มา
https://bit.ly/3Kk6t4A
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/876045

     แบตเตอรี่อุปกรณ์สื่อสารทุกก้อนมีลิเธียมไอออน หรือ นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์เป็นส่วนประกอบแทบจะทุกครั้งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อฝังกลบขยะชุมชนหรือจุดทิ้งขยะชุมชน พอควบคุมเพลิงให้ดับลงได้แล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการขุดคุ้ยหาร่องรอยของสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ และก็แทบทุกครั้งเหมือนกันที่พบซากแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ หรือ ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือในลักษณะปริแยกระเบิดดำไหม้ปรากฏตัวอยู่ในจุดเกิดเหตุ…ทำไมถึงเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าขยะอีเล็คทรอนิคส์ชนิดนี้คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
อธิบายกันสั้นๆง่ายๆ การใช้ช่องทางการสื่อสารของผู้คนในโลกยุคปัจจุบันนี้ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค ที่ผู้ผลิตค่ายต่างๆแข่งกันผลิตออกมาขายในหลายระดับราคา แต่ไม่ว่าจะค่ายไหนราคาเท่าไร อุปกรณ์การสื่อสารเหล่านี้ต้องมีแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งนั้น ซึ่งภายในก้อนแบตเตอรี่นี้ จะมีสิ่งที่เรียกว่า ลิเธียมไอออน หรือ นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ บรรจุอยู่ภายในวัสดุห่อหุ้มที่เป็นฉนวน เมื่อผ่านการใช้งานไปถึงระยะที่ แบตเตอรี่เหล่านั้นเสื่อมสภาพจน ไม่สามารถใช้งานได้ ผู้คนส่วนมากก็มักจะทิ้งมันรวมๆไปพร้อมกับขยะครัวเรือนทั่วไป
นี่ไง..อันตรายเริ่มเกิดแล้ว
     ลิเธียมมีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย เมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือสัมผัสกับ แสงแดดจัด อากาศร้อนจะเกิดประกายไฟ เมื่อลิเธียมอยู่ภายในแบตเตอรี่ ที่ฉนวนห่อหุ้มยังมีสภาพสมบูรณ์ดีก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าแบตเตอรี่นั้นเกิดเสื่อมสภาพ ฉนวนห่อหุ้มลิเธียมบวม ตัวเก็บประจุไฟเสียหาย จะทำให้แบตเตอรี่ลิเธียมติดไฟได้ง่ายมาก เพราะมีประจุรั่วออกมา เกิดประกายไฟ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ยิ่งเมื่อแบตเตอรี่มาเจอกับแสงแดดที่ร้อนแรงอากาศที่ร้อนจัด ก็จะยิ่งทำให้ฉนวนห่อหุ้มลิเธียมเสียหายหนักจนทำให้ลิเธียมหลุดออกมาสัมผัสกับอากาศ แสง และน้ำได้มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าขยะในบ่อฝังกลบที่มีแบตเตอรี่ถูกฝังรวมอยู่ด้วย จะไม่กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี เมื่อพบกับประกายไฟจากการที่ลิเธียมทำปฏิกิริยากับแสงแดด อากาศร้อน ในวันที่แสดงแดดร้อนแรงจัดจ้า
     บ่อฝังกลบขยะที่ถูกกฎหมายมีการทำงานเป็นระบบได้มาตรฐานรับมือกับไฟไหม้ได้เร็วกว่า แม้จะมีระบบเฝ้าระวังเพลิงตลอด 24 ชั่วโมง และมีกระบวนการกำจัดขยะชุมชนหรือขยะครัวเรือนดีขนาดไหนแต่ก็ไม่สามารถคัดแยกขยะอีเล็คทรอนิคส์ออกจากขยะอื่นที่มาพร้อมกันในรถขนขยะได้ ขณะเดียวกันก็ห้ามแสงแดดที่จัดจ้าไม่ได้เช่นกัน การจุดระเบิดของลิเธียมในแบตเตอรี่มือถือที่ฝังตัวอยู่ในบ่อฝังกลบขยะจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่แหล่งกำจัดขยะชุมชนแบบฝังกลบที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฏหมายและได้มาตรฐาน จะเข้าจัดการปัญหาได้รวดเร็วทันควันกว่า จึงสามารถควบคุมเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพใช้ระยะเวลาอันสั้น สามารถควบคุมความเสียหายได้ดีกว่าบ่อฝังกลบขยะที่ถูกละเลย แต่จะดีที่สุดคือการกีดกันไม่ให้มีขยะอีเล็คทรอนิคส์หลุดรอดเข้ามาสู่พื้นที่ฝังกลบ ไม่เปิดช่องให้แบตเตอรี่ที่เหมือนตายไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ทำได้ง่ายๆตั้งแต่ที่บ้าน ด้วยการแยกขยะก่อนทิ้ง ไม่นำขยะอีเล็คทรอนิคส์ทุกชนิดมาทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น